วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

NAVIGATOR



Global Positioning System หรือระบบบอกตำแหน่งบนโลก ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า GPS หมายถึง ฐานรับสัญญาณดาวเทียมระบบนำทาง (satellite-based navigation system) โดยมีเครือข่ายที่ส่งมาจากดาวเทียม GPS Block II หรือเรียกรวม ๆ ว่า NAVSTAR โคจรอยู่บนท้องฟ้ารอบโลก ที่ความสูงจากพื้นโลก 11,000 nautical miles (1 nautical mile เท่ากับ 6,076 ฟุต หรือระยะ 1 ลิปดาของเส้นรอบวงโลก) ระยะเวลาโคจรรอบโลก 12 ชั่วโมงต่อ 1 รอบ จำนวนรวมทั้งสิ้น 24 ดวง
ดาวเทียม GPS ดวงแรกถูกส่งเข้าวงโคจรเมื่อ พ.ศ. 2521 และในปี พ.ศ. 2537 ดาวเทียม GPS ดวงที่ 24 ก็ถูกส่งขึ้นไป (หมายเหตุ: ปัจจุบันดาวเทียม GPS มีอยู่ทั้งหมด 29 ดวง แต่อีก 5 ดวงจะเป็นดาวเทียมสำรอง เพื่อเตรียมใช้ทดแทนดาวเทียมที่กำลังจะหมดอายุ)
ระบบนำทาง GPS ในปัจจุบัน เอื้อประโยชน์แก่นักทางเดินทางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้พ็อคเก็ตพีซี สามารถเลือกซื้อเครื่องรับ GPS ได้หลายแบบ แต่แบบที่ได้รับความนิยมที่สุดน่าจะเป็น GPS Navigator ที่มี Bluetooth เหมาะสำหรับการใช้งานในรถยนต์หรือยานพาหนะทางบก ทางเรือ และทางอากาศได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นนักเดินทางที่ไม่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ ก็คงจะต้องใช้แบบ SDIO หรือ CF Card รวมทั้งแบบที่ติดตั้งระบบ GPS มากับตัวเครื่องแบบของ MiTAC เพราะสามารถพกพาไปได้สะดวก แต่ก็ต้องแลกกับอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ลดลง ซึ่งก็คงต้องหาแบตเตอรี่สำรองมาเตรียมไว้
ปัจจุบันมีผู้ผลิตแผนที่ GPSในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยสำหรับใช้งานบนพ็อคเก็ตพีซี มาให้เลือกซื้อกันหลายราย แม้ว่าในหลาย ๆ จุด อาจยังขาดรายละเอียด และไม่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เทียบไม่ได้กับแผนที่ของทางประเทศในกลุ่มยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่บางประเทศในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้งานได้ โดยเฉพาะแผนที่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังมีผู้ให้บริการข้อมูลผ่าน GPRS เช่น i-Mobile by SAMART ในการช่วยค้นหาสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร ตึกอาคารที่สำคัญ รวมทั้งนำภาพจากกล้องของตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ติดตั้งในจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคามาดูบนพ็อคเก็ตพีซีได้ เพื่อใช้การตัดสินใจในการเลือกเส้นทาง นับว่าเป็นประโยชน์มาก มีความเห็นว่า GPS เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ใช้พ็อคเก็ตพีซีสามารถใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์พกพาตัวนี้ ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการใช้งาน GPS สามารถใช้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องหา GPS มาใช้งานกัน เพื่อการเดินทางอย่างมีความสุขไปกับพ็อคเก็ตพีซีคู่ใจของคุณ.

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กฏหมาย คำนำหน้าชื่อ คุณคิดอย่างไรกับ กม.นี้

คิดอย่างไรกับร่าง กม.คำนำหน้าชื่อ พร้อมให้สิทธิ์คนแปลงเพศ
น้องปอย สาวประเภทสองสุดสวย
ร่างกฏหมายคำนำหน้าชื่อ พร้อมให้สิทธิ์เต็มที่กับชาย-หญิงที่แปลงเพศแล้ว สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น “นางสาว”และ “นาย”ได้ นอกจากนี้ยังให้สิทธิ์หญิงที่จดทะเบียนแต่งหรือหย่าร้างใช้คำว่า “นาง”หรือ “นางสาว”ได้ตามความพึงพอใจ

นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมาธิการสตรี ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การยกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามบุคคลเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ว่า หญิงที่จดทะเบียนแล้ว จะใช้คำนำหน้าว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจหญิงที่จดทะเบียนสมรสและเปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น “นาง” หรือต่อมาจดทะเบียนหย่า จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิ์กับชายและหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ให้ใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” และ “นาย” ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับเพศสภาพใหม่ และลดปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม โดยระบุว่า ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศหญิงแล้ว ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ได้
และหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศชายโดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ได้ ขณะนี้กำลังขอรายชื่อสมาชิก สนช.รับรองไม่น้อยกว่า 25 ชื่อ เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม สนช.หากที่ประชุมรับหลักการ และรัฐบาลเห็นสอดคล้อง ตั้งกรรมาธิการร่วม ถ้ารัฐบาลไม่รับหลักการ สนช.สามารถเสนอเองได้
ขณะเดียวกันกระบวนการรับรองการแปลงเพศจะต้องทำอย่างรอบคอบ มีนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งต้องกำหนดระยะเวลาว่าแปลงเพศมาแล้วกี่ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องกำหนดรายละเอียดหลังจากที่กฎหมายผ่านความเห็นชอบ หากสงสัยตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะระบบทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทยใช้ระบบออนไลน์
ขณะที่ น.ส.ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กำลังรวบรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุด ล่าสุดมีรายงานแจ้งว่ามีจำนวนกว่า 2,000 รายชื่อแล้ว และให้การสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ จะนำรายชื่อไปยื่นให้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน สนช.ขอให้สมาชิก สนช.ช่วยผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว และต้องให้สิทธิคนที่ยังไม่แปลงเพศด้วย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว มีคนที่ยังไม่แปลงเพศมากกว่าคนที่แปลงเพศแล้ว
****** แล้วพวกท่านว่ามีความเหมาะสม เห็นสมควรด้วยหรือไม่ครับบบบบบบบ******
โดย ทะเลดาว